วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มารู้จักฟันกันดีกว่า

มารู้จักฟันกันดีกว่า

ฟ ฟัน เป็นอย่างไร ?

กระดูกขากรรไกร เป็นกระดูกส่วนหนึ่งของใบหน้า เป็นส่วนที่รากฟันฝังอยู่ ขากรรไกรบนจะติดแน่น กับกระโหลกศีรษะ เวลาพูดหรือกินจะขยับเฉพาะขากรรไกรล่างเท่านั้น โดยมีกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นช่วยกำหนดระยะ ขนาด และขอบเขตของการขยับให้พอดี ในแต่ละคน


คนเรามีฟัน คนละกี่ชุด ?

ฟันจริงๆ ของคนเรามีได้เพียง 2 ชุดเท่านั้น เมื่อใดที่มีการพูดถึง ฟันชุดที่ 3 ก็หมายถึง ฟันปลอม ฟันชุดแรกเป็นฟันน้ำนม มี 20 ซี่ ฟันชุดที่ 2 เป็นฟันแท้ มี 32 ซี่ ช่วงอายุ 6 ถึง 11 ปี จะเป็นฟันชุดผสม เพราะฟันน้ำนมจะทยอยหลุดไป และมีฟันแท้ จะขึ้นมาแทนที่ ฟันแท้ถ้าดูแลรักษาให้ดี จะอยู่กับเราได้ตลอดชีวิต ไม่จำเป็นต้องใช้ฟันชุดที่ 3 เลย นะ ... จะบอกให้

ฟันทุกซี่รูปร่างเหมือนกันหรือไม่ ?

ฟันของคุณนั้น รูปร่างไม่เหมือนกันทุกซี่หรอกค่ะ เพราะฟันของคนเรามีถึง 4 ชนิด คือ ฟันตัด ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย และฟันกราม ฟันตัด และฟันเขี้ยว จัดเป็นฟันหน้า มีไว้ใช้ตัดอาหาร เวลายิ้มจะเห็นได้ชัดเจน ส่วนฟันกราม และฟันกรามน้อยนั้น จัดเป็นฟันหลัง มีไว้บดอาหารให้ละเอียด แต่ฟันน้ำนมโชคร้ายนิดหน่อย ตรงที่ไม่มีฟันกรามน้อย ทำให้ฟันกรามต้องรับหน้าที่ หนักมากขึ้นค่ะ




เวลาอ้าปาก ส่วนของฟันที่มองเห็น คือ ฟันทั้งซี่ ใช่หรือไม่ ?

ฟันของคุณนั้น เมื่อดูส่วนที่มองเห็น ขณะที่คนเราอ้าปาก เป็นเพียงส่วนที่เรียกว่า ตัว ฟัน เพราะยังมีส่วนที่ฝังอยู่ ในกระดูกขากรรไกร เรียกว่า ราก ฟัน และส่วนต่อของตัวฟัน และรากฟัน ก็คือ คอฟัน ขณะที่ฟันยังขึ้นไม่เต็มที่ จะยังมองไม่เห็นคอฟัน แต่ถ้ามีโรคเหงือก หรือแปรงฟันผิดวิธี ที่ทำให้เหงือกร่น คอฟันจะอยู่สูงกว่าขอบเหงือก นี้คือ จะมีส่วนของรากฟัน โผล่ขึ้นมา ซึ่งจะมีผลทำให้เสียวฟันได้




แต่ละชั้นของ ฟัน สำคัญอย่างไร ?

เคลือบฟัน เป็นส่วนที่แข็งที่สุดของร่างกาย แข็งกว่ากระดูก

เคลือบรากฟัน ติดกับกระดูกขากรรไกร ด้วยเยื่อยึดรากฟัน เยื่อนี้ เป็นกลุ่มของเส้นใย ทำหน้าที่ช่วยกระจายแรง จากการบดเคี้ยว หรือการสบฟัน ไปยังกระดูกขากรรไกร

เนื้อฟัน เป็นชั้นที่ 2 ของทั้งตัวฟัน และรากฟัน ชั้นนี้สามารถรับความรู้สึก ร้อน เย็น ความเปรี้ยวของอาหาร และสิ่งกระตุ้นอย่างอื่น

โพรงประสาทฟัน เป็นชั้นในสุดของฟัน ประกอบด้วย เส้นเลือด เส้นประสาท











วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทันตกรรมป้องกัน

การรักษาความสะอาดช่องปาก
เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า แปรงฟันทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง ทำไมฟันจึงผุ ถ้าจะมาพิจารณากันอย่างละเอียด แล้วละก็ คงจะตอบตัวเองกันได้นะคะว่า เราให้ความสนใจการแปรงฟันน้อยเกินไป บางคนนะแค่เอาไปสีฟันเข้าไปถูๆ ซ้ายที่ ขวาที แล้วก็เลิก แปรงสีฟันบางคนก็ใช้นานซะจนขนแปรงบาน หมดแรงสปริง เลยทำความสะอาดไม่ได้ดีเลย
ความจริงแล้ว รายละเอียดของการแปรงฟันนั้น มีทั้งแปรงสีฟันที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันควรมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ตลอดจนวิธีการแปรงฟันให้สะอาดอย่างทั่วถึง ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็น ต้องคำนึงถึง ในการแปรงฟันให้สะอาด และเกิดผลในการป้องกันฟันผุด้วย
แปรงฟัน ... อย่างมีประสิทธิภาพ
การแปรงฟันอย่างมีประสิทธิภาพ จะประกอบด้วยปัจจัย 5 ข้อ ดังนี้
  1. ขนแปรง : แปรงสีฟันที่ใช้ควรมีขนแปรงนุ่ม จะช่วยส่งเสริมให้แปรงฟันได้ โดยไม่ต้องออกแรงมาก สามารถป้องกันการสึกกร่อน และอาการเสียวฟัน ที่อาจเกิดต่อเนื่องได้ การแปรงฟันโดยแปรงสีฟันที่อ่อนนุ่ม จะช่วยให้ขนแปรงเข้าไปตามซอกฟัน ซึ่งเป็นที่สะสมของเศษอาหาร และคราบจุลินทรีย์ได้ อย่างทั่วถึง ทำให้ทำความสะอาดได้ดีกว่า แต่จะต้องปรับอุปนิสัย และความเชื่อที่ว่า แปรงฟันแแรงๆ จึงจะสะอาด เปลี่ยนเป็น แปรงฟันด้วยขนแปรงนุ่ม จะสะอาดดีกว่า
  2. บริเวณที่ควรแปรงฟัน : แปรงฟันบริเวณขอบเหงือกเป็นพิเศษ บริเวณขอบเหงือก หรือรอยต่อระหว่างเหงือกและฟัน จะเป็นส่วนที่คราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ และโรคฟันผุ สะสมได้ดีที่สุด ดังนั้น จึงเป็นบริเวณที่จะต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ โดยการทำความสะอาดบริเวณนี้ ของเหงือกอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ การแปรงฟันโดยใช้ขนแปรงที่อ่อนนุ่ม กระทบขอบเหงือกเบาๆ ยังเป็นการกระตุ้นการทำงานของเหงือกด้วย ในรายที่เหงือกอักเสบ การแปรงฟันบริเวณขอบเหงือก อาจมีเลือดออกได้ แต่ถ้าอดทนแปรงต่อไป ในบริเวณนั้นอย่างต่อเนื่อง อาการเหงือกอักเสบ และเลือดออกขระแปรงฟัน จะลดน้อยลง และหายไปในที่สุด ภายในเวลาไม่นาน
  3. ด้านของฟันที่ต้องแปรง : แปรงฟันให้ทั่วทุกซี่ฟัน ทั้งด้านนอกและด้านใน ด้านนอกของฟัน ได้แก่ ด้านแก้ม คนส่วนใหญ่สามารถแปรงให้สะอาดได้ดี จะมีจุดอ่อนก็ตรงกระพุ้งแก้มด้านลึกสุด มักแปรงเข้าไปไม่ค่อยถึง ก็ทำให้ไม่สะอาดได้ และด้านในของฟัน ได้แก่ ด้านเพดานปาก สำหรับฟันบน หรือด้านลิ้น สำหรับฟันล่าง เป็นส่วนที่แปรงฟันไม่ค่อยถึงที่สุด เพราะว่าทุกด้านของฟัน จะเป็นที่สะสมคราบจุลินทรีย์ได้เหมือนๆ กัน จึงสมควรจะได้รับการทำความสะอาดเท่ากัน ทั้งด้านนอก และด้านในของฟันทุกซี่ในปาก การแปรงฟันที่กี จึงต้องแปรงช้าๆ และทั่วถึง
  4. เวลาที่ใช้ : แปรงฟันให้นาน ครั้งละประมาณ 2 นาที เพราะดดยปกติแล้ว ความยาวของแปรงสีฟัน จะครอบคลุมฟันได้ครั้งละ 2-3 ซี่ ในขณะที่ฟันน้ำนมมี 20 ซี่ และฟันถาวรมี 32 ซี่ ซึ่งได้รับการแปรงฟันทั้งด้านนอก และด้านในทุกซี่อย่างทั่วถึง จะใช้เวลาประมาณ 2 นาที่ขึ้นไป ดังนั้น การแปรงฟันอย่างรีบร้อน จะแปรงได้ม่ทั่วถึง และไม่สะอาดเพียงพอ
  5. ยาสีฟัน : แปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ยาสีฟันที่ดี จะต้องมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ในการป้องกันโรคฟันผุ และการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ควรจะต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ในการต่อต้านโรคฟันผุ ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ในเวลาประมาณ 2 นาที่ดังกล่าว จะเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเกิดปฏิกิริยา ป้องกันฟันผุของฟลุออไรด์ด้วย
    ขั้นตอนการแปรงฟัน
  1. การจับแปรง เวลาจะแปรงฟันบน จับแปรงหงายขึ้น
    เวลาจะแปรงฟันล่าง จับแปรงคว่ำลง
  2. วิธีการแปรงฟันให้สะอาดอย่างทั่วถึง
    • วางแปรงแนบกับขอบเหงือก
    • เอียงขนแปรงเล็กน้อย
    • ขยับแปรง ไป-มา เล็กน้อย
    • หมุนข้อมือปัดขนแปรงจากเหงือก ผ่านตัวฟันดดยตลอด
    • ถ้าเป็นฟันบน ปัดลงล่าง ฟันล่าง ปัดขึ้นบน
    • แปรงให้ทั่วทุกซี่ ทั้งด้านนอก ด้านในของฟันบน และฟันล่าง ให้สะอาด
    • ส่วนด้านบดเคี้ยว ถูกไปมาตามแนวฟัน ทั้งซ้าย-ขวา จนสะอาด แต่ละครังควรใช้เวลาแปรงฟัน ประมาณ 2-3 นาที
การแปรงฟันให้สะอาดอย่างทั่วถึง ในแต่ละบริเวณ ทำได้ดังนี้
แปรงด้านนอกของฟันบน หงายแปรงขึ้น สอดแปรงไว้ระหว่างกระพุ้งแก้ม และฟันบน ให้ด้านข้างของขนแปรง แนบบริเวณเหงือกและฟัน โดยปลายขนแปรง อยู่เหนือขอบเหงือกเล็กน้อย วางทำมุม 45 องศา ออกแรงกดเบาๆ ขยับแปรงไปมาเล็กน้อย และบิดข้อมือให้ขนแปรงปัดลงล่าง จากเหงือกผ่านซอกฟัน และตัวฟันในบริเวณนั้นโดยตลอด ให้แปรงซี่ในสุดออกมาข้างนอกจนทั่วทุกซี่
แปรงด้านในของฟันหลังบน หงายแปรงขึ้น สอดแปรงเข้าไปในช่องปากด้านเพดาน ให้ด้านข้างของขนแปรงแนบบริเวณเหงือกและฟัน โดยปลายขนแปรงอยู่เหนือเหงือกเล็กน้อย เอียงทำมุมประมาณ 45 องศา ออกแรงกดเบาๆ ขยับแปรงไปมาเล็กน้อย และบิดข้อมือให้ขนแปรงปัดลงล่าง จากเหงือกผ่านซอกฟัน และตัวฟัน ในบริเวณนั้นโดยตลอด
แปรงด้านนอกของฟันล่าง คว่ำแปรงลง สอดแปรงไว้ระหว่างกระพุ้งแก้มกับฟัน หันด้านข้างของขนแปรง ให้ปลายขนแปรงชิดกับขอบเหงือก วางมุมประมาณ 45 องศา ออกแรงกดเบาๆ ขยับแปรงไปมาเล็กน้อย แล้วบิดข้อมือให้ขนแปรงปัดขึ้นบน จากเหงือกผ่านซอกฟัน และตัวฟันในบริเวณนั้นโดยตลอด
แปรงด้านในของฟันหลังล่าง คว่ำแปรงลง สอดแปรงเข้าในช่องปาก ให้อยู่ระหว่างลิ้นกับฟัน วางด้านข้างของขนแปรง แนบบริเวณเหงือกและฟัน โดยปลายขนแปรงอยู่ต่ำจากขอบเหงือกเล็กน้อย เอียงทำมุมประมาณ 45 องศา ออกแรงกดเบาๆ ขยับแปรงไปมาเล็กน้อย แล้วบิดข้อมือให้ขนแปรงปัดขึ้นบน จากเหงือกผ่านซอกฟัน ในบริเวณนั้นโดยตลอด
แปรงด้านในของฟันหน้า สอดแปรงเข้าไปในช่องปาก ด้านในของฟันหน้าบน จับแปรงหงายขึ้น ให้ด้ามแปรงขนานกับตัวฟัน วางขนแปรงบริเวณขอบเหงือก ปลายขนแปรงสัมผัสกับฟัน แล้วปัดขนแปรงจากขอบเหงือกลงมาถึงปลายฟัน ด้านในของฟันหน้าล่าง จับแปรงคว่ำลง ให้ด้ามแปรงขนานกับตัวฟัน วางขนแปรงบริเวณขอบเหงือก แล้วปัดขนแปรงจากขอบเหงือกขึ้นมา ถึงปลายฟัน
แปรงด้านบดเคี้ยว ฟันล่าง คว่ำแปรงลง วางแปรงด้านบดเคี้ยว ให้ขนแปรงสัมผัสกับตัวฟัน ออกแรงถู เข้า-ออก เบาๆ ในบริเวณนั้นโดยตลอด
ฟันบน หงานแปรงขึ้น ให้ขนแปรงสัมผัสกับด้านบดเคี้ยว ออกแรงถูก เข้า-ออกเบาๆ ในบริเวณนั้นโดยตลอด
    ข้อควรจำ
  1. ควรแปรงฟันทันทีหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังรับประทานของหวาน
  2. ควรแปรงฟันให้ทั่วทั้งปาก ฟันบน ฟันล่าง ทุกด้าน และทุกซี่
  3. แปรงฟันด้านหนึ่งๆ ควรแปรงไม่น้อยกว่า 4-5 ครั้ง และไม่ควรออกแรงมากเกินไป
  4. ใช้เวลาแปรงฟันประมาณ 2-3 นาที
  5. การแปรงฟันผิดวิธี เช่น การแปรงตามขวาง หรือขึ้นลงพร้อมกัน ทำให้เหงือกร่น และฟันสึกกร่อนมาก
  6. ทุกคนควรมีแปรงของตัวเอง ขนาดพอเหมาะกับปาก ขนแปรงไม่แข็งเกินไป


ที่มา www.dental.anamai.moph.go.th/oralhealth/happysmile/dentalh/prevention.html#prevent01

ช่องปาก...อวัยวะน่ารู้

รู้เรื่อง ... ฟันของเรา
ทุกคนคงต้องยอมรับว่า "ปาก" เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อทุกชีวิต ในช่องปากมีอวัยวะที่สำคัญ คือ เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดาน และลำคอส่วนต้น
ฟัน จัดเป็นอวัยวะที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย โดยมีความแข็งแรงมากกว่ากระดูก เป็นปวัยวะเดียวที่ไม่มีการเติบโต เพิ่มขนาด หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่าง หลังจากขึ้นมาในช่องปากแล้ว แต่ฟันยังเป็นอวัยวะที่มีชีวิต รับความรู้สึก และเจ็บปวดได้ ถ้ามีการสึกกร่อน หรือทำลายชองเนื้อฟันลง
ฟัน ... มีความสำคัญต่อชีวิต ตั้งแต่เป็นฟันน้ำนม ที่เริ่มขึ้นในวัยเด็ก จวบจนเป็นฟันแท้ที่จะอยู่กับเราไปจนกระทั่งถึงวัยชรา ถ้าหากเราเอาใจใส่ดูแล รักษาความสะอาด ด้วยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อฟัน หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นโทษกับฟัน เช่น ขนมหวานเหนียวติดฟัน น้ำอัดลม เป็นต้น และที่สำคัญคือ ต้องใช้ฟันให้ถูกหน้าที่ คือ ฟันมีหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร ช่วยในการออกเสียง และช่วยสร้างรอยยิ้มที่ประทับใจ และควรหาเวลาไปพบทันตแพทย์ เพื่อการบูรณะ และป้องกันความผิดปกติปีละครั้ง เพียงเท่านี้ เราก็จะมีสุขภาพฟันที่ดี
โครงสร้างของฟัน
แม้ว่าฟันจะมีรูปร่างและหน้าที่ต่างกัน แต่ส่วนประกอบในโครงสร้างของฟันแต่ละซี่ จะเหมือนกัน คือ
    ลักษณะภายนอกของฟัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
  1. ตัวฟัน ... เป็นส่วนที่ขึ้นอยู่ในช่องปาก ส่วนที่โผล่พ้นเหงือก มองเห็นในช่องปาก
  2. รากฟัน ... เป็นส่วนที่ฝังอยู่ภายใต้เหงือก และกระดูกขากรรไกร มีเหงือกหุ้มทับ
    ลักษณะภายใน ... ถ้าผ่าฟันทั้งซี่ออกตามแนวยาว จะพบว่า ฟันไม่ได้เป็นแท่งตันหมด แต่จะแบ่งเป็นชั้นๆ ประกอบด้วย
  1. ชั้นเคลือบฟัน ... สีขาวใส เป็นชั้นที่อยู่นอกสุด จะหุ้มตัวฟัน เป็นส่วนที่แข็งที่สุด เพราะต้องทนต่อการสัมผัสกับอาหาร และความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ภายในช่องปากตลอดเวลา
  2. ชั้นเคลือบรากฟัน ... สีเหลือง แข็งแรงน้อยกว่าเคลือบฟัน คลุมเนื้อฟันเฉพาะส่วนรากฟัน
  3. เนื้อฟัน ... จะอยู่ถัดเข้ามา มีสีครีม ค่อนข้างเหลือง มีช่องทางติดต่อรับความรู้สึก จากปลายประสาทชั้นในสุดได้
  4. โพรงประสาทฟัน ... เป็นโพรงตรงกลาง เป็นแกนกลาง คล้ายไส้ดินสอ เป็นที่อยู่ของเนื้อเยื่อเส้นประสาท เส้นเลือด ท่อน้ำเหลือง และเซลที่จะสร้างเนื้อฟัน เส้นเลือดและเส้นประสาท จะแยกจากแขนงใหญ่ เข้ามาทางรูปเปิดปลายฟัน เป็นจุดสำคัญที่สุดในการรับความรู้สึก และความคงชีวิตของฟัน ดังนั้น ธรรมชาติจึงสร้างฟัน ให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันชั้นนี้

ลักษณะของฟันแต่ละซี่
  1. ฟัน ตัด หรือฟันกัด : จำนวน 8 ซี่ ทางด้านหน้าล่าง 4 ซี่ ด้านบน 4 ซี่ รูปร่างคล้ายลิ่มบาง ทำหน้าที่กัด หรือตัด ช่วยในการออกเสียง และให้ความสวยงาม
  2. ฟันเขี้ยว : จำนวน 4 ซี่ บน 2 ซี่ ล่าง 2 ซี่ อยู่บริเวณมุมปาก ซ้าย-ขวา ปลายฟันค่อนข้างแหลม เป็นฟันที่แข็งแรงรากยาว ทำหน้าที่ฉีกอาหาร ช้วยรักษารูปทรงของใบหน้า บริเวณมุมปากไม่ให้บุ๋ม
  3. ฟันกราม : จำนวน 20 ซี่ บน 10 ซี่ ล่าง 10 ซี่ อยู่ถัดฟันเขี้ยวเข้าไปข้างใน แบ่งเป็นฟันกรามน้อย (ซึ่งไม่มีในฟันน้ำนม) 8 ซี่ และฟันกราม 12 ซี่ มีขนาดใหญ่กว่าฟันกลุ่มอื่น รูปร่างเกือบเป็นสี่เหลี่ยม มีหน้าตัด ซึ่งทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร
อวัยวะปริทันต์
  1. เหงือก : เป็นเนื้อเยื่อที่คลุมบางส่วนของฟัน และกระดูกขากรรไกร ปกติมีสีชมพู หรือคล้ำ ตามสีผิว เนื้อแน่น ขอบบาง แนบไปกับคอฟันพอดี เหงือกที่อยู่ระหว่างซอกฟัน จะเต็มเป็นรูปสามเหลี่ยม ยอดแหลม ขอบเหงือกกับตัวฟัน จะมีร่องโดยรอบ ลึกประมาณ 1-2 มม.
  2. เนื้อเยื่อปริทันต์ : เป็นเนื้อเยื่อรอบรากฟัน ที่ยืดหยุ่นได้เล็กน้อย ทำหน้าที่ยึดรากฟันให้ติดกับกระดูกเบ้าฟัน และช่วยกระจายแรงบดเคี้ยว ไปยังกระดูกขากรรไกรด้วย
  3. กระดูกเบ้าฟัน : เป็นส่วนของกระดูกขากรรไกร ที่รากฟันฝังตัวอยู่ มีรูปร่างเว้าไป ตามลักษณะรากฟันแต่ละซี่
อวัยวะอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการบดเคี้ยว
  1. ลิ้น : มีเล้นเลือด เส้นประสาท เป็นจำนวนมาก ไวต่อการรับสัมผัส มีตุ่มเล็กๆ สำหรับรับรส ช่วยกวาดรวมรวมอาหาร ให้ฟันบดเคี้ยวได้สะดวก และช่วยในการพูดออกเสียงด้วย
  2. ต่อมน้ำลาย : ต่อมขนาดใหญ่อยู่บริเวณใต้ลิ้น หน้าใบหู และใต้ขากรรไกร ส้วนต่อมเล็กๆ กระจายทั่วไป ในผนังช่องปาก ต่อมน้ำลายจะถูกกระตุ้นให้หลั่งน้ำลาย เฉลี่ยประมาณวันละ 1-2 ลิตร เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นแก่อวัยวะในช่องปาก และช่วยผสมผสานอาหารนุ่ม ลื่น พร้อมสำหรับการกลืน
  3. เยื่อบุช่องปาก : ได้แก่ เนื้อเยื่อบริเวณผนังของกระพุ้งแก้ม ริมฝีปากด้านใน ถ้ามีสภาพสมบูรณ์ จะช่วยให้การทำงานของอวัยวะอื่น ในขณะบดเคี้ยวมีประสิทธิภาพ
เรื่องของฟันเขี้ยว
ฟันเขี้ยว เป็นฟันที่มีความแข็งแรง เพราะมีรากฟัน 1 ราก ที่ยาวและใหญ่กว่าฟันซี่อื่นๆ ตำแหน่งของฟันเขี้ยว จะอยู่ที่บริเวณมุมปาก มีหน้าที่กัดและฉีกอาหาร รวมไปถึงการรักษารูปร่างของใบหน้า ให้มีมุมบริเวณริมฝีปากด้วย
คนที่มีฟันเรียงตัวไม่เป็นปกติ หรือที่เรียกว่าฟันเกนั้น อาจจะมีฟันซ้อนที่บริเวณฟันเขี้ยวได้ โดยมีลักษณะฟันมากระจุกอยู่หลายซี่ ทำให้ต้องเน้นการรักษาความสะอาดให้ดี เพราะถ้ามีการหมักหมม ของเศษอาหารเป็นประจำ ก็จะทำให้เกิดฟันผุได้ ถ้าฟันเขี้ยวเสียไป อาจทำให้ต้องถอน ก็จะทำให้ความแข็งแรงของฟัน ลดน้อยลงไปได้ด้วย
ฟันแท้ซี่แรกในช่องปาก
ในช่วงเวลาการขึ้นของฟันแท้ซี่แรก จะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 6-7 ปี ซึ่งเด็กคงยังไม่สามารถตระหนักถึง การดูแลรักษาความสะอาดด้วยตนเองได้ พ่อแม่ต้องเป็นผู้ปลูกฝัง และพ่อแม่ควรจะมีความรู้ว่า ฟันแท้ซี่แรกที่ควรขึ้นเป็นซี่แรกในช่องปากของลูก ก็คือ ฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ซึ่งจะมี 4 ซี่ อยู่ที่ 4 ด้านของฟันในขากรรไกร
ฟันแท้ซี่แรกซี่นี้ จะขึ้นมาโดยไม่มีการแทนที่ฟันน้ำนม โดยจะขึ้นมาทางด้านหลังของฟันกรามน้ำนม ซี่สุดท้าย โดยถ้าลองนับฟันดู จะนับฟันน้ำนมได้ 20 ซี่ แบ่งเป็นฟัน 10 ซี่ และฟันล่าง 10 ซี่ ฟันส่วนที่เกินไปทางข้างใน ก็คือ ฟันแท้ หรือ ฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 นั่นเอง
ฟันแท้ซี่แรกนี้ จะเป็นกรามแท้ที่แข็งแรงที่สุด ขนาดซี่จะใหญ่ที่สุด และมีรากฟันที่แข็งแรง ทำหน้าที่ช่วยในการบดเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพราะฉะนั้น ควรให้ความสนใจ ดูแลความสะอาดตั้งแต่ลูกยังเล็ก เพราะฟันแท้ขึ้นมานี้จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต
หน้าที่ของฟันน้ำนม
    ความสำคัญของฟันน้ำนม
  1. ใช้กัด ตัด และบดเคี้ยวอาหารให้ละเอียด
  2. ให้ความสวยงาม
  3. ช่วยออกเสียงให้ชัดเจน ที่นอกเหนือจากฟันแท้ คือ ช่วยให้การเจริญของขากรรไกร เป็นไปอย่างปกติ และกันที่ไว้ให้ฟันแท้ขึ้นมาแทนที่
    ผลเสียที่ฟันน้ำนมถูกถอนไป ่ก่อนกำหนด หรือหลุดช้ากว่ากำหนด
  1. ฟันล้มเอียงเข้าหาช่องว่าง ฟันแท้ตำแหน่งนั้นไม่สามารถขึ้นได้อย่างปกติ
  2. ฟันคู่สบยื่นยาว เกิดการสบฟัน การเคี้ยวผิดปกติ
  3. ฟันที่เหลือรวนเก แปรงฟันได้ไม่สะอาด เศษอาหารติดฟันง่าย
  4. พูดไม่ชัด เกิดปมด้อย
  5. ฟันซ้อนเก
ฟันของน้องหนู
เด็กๆ จะมีฟันขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน โดยมีฟันคู่หน้ากลางขึ้นมาก่อน ฟันในวัยเด็กนี้ เรียกว่า ฟันน้ำนม จะมีทั้งหมด 20 ซี่ แบ่งเป็นฟันบน 10 ซี่ และฟันล่าง 10 ซี่ ประกอบด้วยฟันหน้า ฟันเขี้ยว และฟันกราม ฟันน้ำนมจะขึ้นครบ 20 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง และจะอยู่ภายในร่างกาย ตลอดไปจนกว่าฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรักษาฟันน้ำนมไว้ สำหรับใช้งานจนกว่าฟันแท้จะขึ้น
ฟันน้ำนมของเด็กจะมีขนาดฟันที่เล็กกว่าฟันแท้ เพราะรูปร่าง ขากรรไกร ใบหน้า ของเด็ก ยังเล็ก และจะเจริญเติบโตไปตามวัย ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาการของร่างกายที่โตขึ้น พัฒนาการของฟันก็จะโตขึ้นตามมา โดยการมีรูปร่างฟันที่ใหญ่ขึ้นด้วย ทำให้ในเด็กที่มีการพัฒนา ของร่างกายล่าช้า หรือรูปร่างใบหน้าเล็ก อาจทำให้ฟันแท้ซี่ที่จะขึ้นมาดูมีขนาดใหญ่ ไม่เหมาะสมสภาพช่องปากที่เล็ก ก็จะทำให้การขึ้นของฟันแท้ มีความผิดปกติ เกิดการซ้อนเกของฟันได้
การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากที่ดี จึงควรควบคู่ไปกับการรักษาสุขภาพร่างกายที่ดี ด้วยนะคะ และคำนึงถึงหลักโภชนาการ ก็จะทำให้พัฒนาการของร่างกายสมบูรณ์ และแข็งแรง
ฟันเขี้ยวซาว
ฟันเขี้ยวซาว เป็นสำนวนการเรียกฟันแท้ของภาคเหนือ หมายถึงฟันที่ขึ้นมา เมื่ออายุประมาณ 20 ปี ซึ่งฟันซี่นี้มักขึ้นมาผิดปกติ ได้แก่ ขึ้นมาไม่ได้บ้าง ขึ้นมาแล้วซ้อนเกบ้าง ขึ้นมาผิดตำแหน่งบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นกับคนทุกคนนะคะ บางคนก็อาจขึ้นได้อย่างปกติก็ได้
แต่สาเหตุของการขึ้นผิดปกตินั้น มักเกิดจากปัญหาของช่องปาก ที่มีพื้นที่ให้ฟันขึ้นไม่เพียงพอ ขากรรไกรที่เล็ก ตำแหน่งท้ายฟันแคบ ทำให้ฟันซี่ที่ขึ้นมาหลังสุด ก็คือ ฟันกรามแท้ซี่ที่ 3 นี้ ไม่สามารถขึ้นได้อย่างเต็มที่ ตัวฟันเองก็จะหาทางดันตัวเองขึ้นมา ถ้าขึ้นมาได้ ก็อาจเป็นปกติ หรืออาจขึ้นมาซ้อนเก ถ้าขึ้นมาได้ก็อาจขึ้นมาเพียงบางส่วน หรือจมอยู่ในขากกรรไก เพราะขึ้นมาไม่ได้เลย
ปกติแล้ว ฟันที่ขึ้นมาคุด หรือซ้อนเก ควรรักษาด้วยการถอนฟันออก เพราะถ้าคงสภาพอยู่ ในช่องปากเช่นนั้นแล้ว ถ้ามีการรักษาความสะอาดได้ไม่ดีพอ ก็อาจเกิดการอักเสบของฟันได้
ฟันเกิน
บางครั้ง คนเราอาจมีฟันเกิน 32 ซี่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ และมักเกิดมาจาก กระบวนการสร้างฟันที่ผิดปกติ มีหน่อของฟันเกิน ซึ่งมักเกิดจากมีการรบกวนอวัยวะภายในร่างกาย ขณะที่กำลังมีการสร้างฟัน ลักษณะที่มองเห็นในช่องปาก เช่น อาจมีฟันขึ้นมาตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งฟันนี้ไม่มีความจำเป็นอะไร ถ้ามีปัญหากับสุขภาพเด็ก หรือแม่ เช่น ดูดนมแม่ไม่ได้ ก็อาจถอนออกไปก็ได้ หรือ กรณีฟันมีเกินมาแทรกระหว่างฟันหน้า กรณีนี้จะเกิดความไม่สวยงาม ต้องทำการตรวจสอบดูก่อนว่า ฟันซี่อื่นๆ มีอยู่ครบถ้วนหรือไม่ ถ้ามีครบควรรีบถอนออกทันที เพื่อที่ฟันซี่อื่นๆ จะได้ไปเรียงตัวตามตำแหน่งปกติ ไม่เช่นนั้น อาจต้องทำการรักษาช่วย ด้วยการจัดฟัน

ที่มา www.dental.anamai.moph.go.th/oralhealth/happysmile/dentalh/genteeth.html#teeth01